กลยุทธ์การระดมสมองในการสอนอ่าน
- เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.
- Jun 23, 2017
- 1 min read
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 ที่ Alex Osborn ได้คิดค้นกลยุทธ์สำหรับการแก้ปัญหาที่เรียกว่า การะดมสมองขึ้นมา ทั้งในภาคธุรกิจและภาคการศึกษา ได้นำกลยุทธ์การะดมสมองมาใช้ เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา และพัฒนานวัตกรรม หรือวิธีการแก้ปัญหา ที่ทุกคนสามารถที่จะมีมีส่วนร่วมในการคิด และนำเสนอความคิดสู่กลุ่มเพื่อทุกคนจะสามารถร่วมกันพิจารณาได้ การระดมสมองเป็นวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความคิดอันหลากหลายของสมาชิกทุกคน โดยไม่มีอุปสรรคปิดกั้นความคิด ครูภาษาไทยสามารถให้นักเรียนระดมสมองในประเด็นต่าง ๆ เพื่อช่วยกันคิดแก้ปัญหา หรือนำเสนอคำตอบของปัญหาที่เป็นไปได้ให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัด ตัวอย่างเช่น การระดมสมองเกี่ยวกับคุณค่าและข้อคิด ครูสามารถตั้งประเด็นให้นักเรียนหาคำตอบจากการใช้กลยุทธ์การระดมสมอง เช่น วรรณคดีและวรรณกรรมที่อ่าน มีคุณค่าด้านเนื้อหาอย่างไรบ้าง สำหรับคุณค่าด้านเนื้อหา อาจแบ่งย่อยเป็นคุณค่าในด้านข้อเท็จจริง อันได้แก่ เกร็ดความรู้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สังคม และคุณค่าที่เกิดจากการตีความและวิเคราะห์ เช่น ข้อคิดและคุณค่าต่าง ๆ จากประเด็นดังกล่าว นักเรียนเข้ากลุ่ม แล้วช่วยกันคิดคำตอบตามประสบการณ์ของตนเองภายในเวลาที่ครูกำหนด โดยครูและเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มจะไม่ขัด หรือรบกวนการแสดงความคิด เพื่อให้ได้ประเด็นความคิดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลักษณะการคิดอย่างหลากหลาย เพื่อที่จะหาวิธีการหรือคำตอบให้แก่ประเด็นปัญหาในการระดมสมอง สามารถที่จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนไปในขณะเดียวกันด้วย (Al-khatib, 2012)





จากที่กล่าวมาข้างต้น ในการสอนอ่านที่ครูสามารถที่จะนำประเด็นในบทอ่านมาตั้งเป็นปัญหาสำหรับระดมสมอง จะช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาความคิด ขณะเดียวกันก็จะฝึกให้เกิดทักษะการฟัง และการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างนักเรียนได้อีกด้วย
_____________________________________________________________ รายการอ้างอิง Al-khatib, B. A. (2012). The effect of using brainstorming strategy in developing creative problem solving skills among female students in Princess Alia University College. American International Journal of Contemporary Research, 2(10), 29-38.
Commenti