ทำอย่างไร ให้กิจกรรมขั้นนำ มีมากกว่าการใช้คำถามทบทวน
- เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.
- Jun 20, 2017
- 1 min read

แผนการจัดการเรียนรู้คือแนวทางสำคัญที่จะนำผู้เรียนให้ไปสู่ผลการเรียนรู้ หรือมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตร ครูจึงต้องรู้จักที่จะวางแผนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในขั้นตอนต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้โดยปกตินั้น จะประกอบขั้นตอนสามขั้นตอนได้แก่ ขั้นนำ ขั้นสอน และขั้นสรุป โดยขั้นตอนที่มีความสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและมุ่งความตั้งใจมาสู่การเรียนการสอนทั้งหมดก็คือ “ขั้นนำ” ซึ่งยังพบสภาพการจัดกิจกรรมขั้นนำที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กล่าวคือ ผู้สอนมักจะใช้การถามคำถาม เช่น เคยทราบอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง รู้จักสิ่งนี้ไหม มันคืออะไร ฯลฯ ซึ่งที่จริงแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อย่างหลากหลาย ที่มีความน่าสนใจ และให้ผลที่มีประสิทธิภาพ และควรนำมาใช้ร่วมกันกับวิธีการใช้คำถาม ดังตัวอย่างเช่น
1. การเล่าเกร็ด คือ การที่ครูเล่าเรื่องที่น่าสนใจ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงกับตนเองหรือจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะสอน โดยเล่าในลักษณะการสนทนาที่ชวนให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและเร้าให้ต้องการฟังต่อ
2. การใช้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือ นำเสนอข้อมูลที่ผู้เรียนอาจจะไม่เคยพบ หรือแตกต่างไปจากความรู้เดิม ที่เคยได้ศึกษามาก่อน อันเป็นข้อค้นพบใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนหันมาให้ความสนใจ และได้ทบทวนประสบการณ์เดิมของตนเอง
3. การใช้สื่อ คือ การใช้สื่อประกอบการเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน ซึ่งอาจจะได้แก่ ของจริง วีดิทัศน์สั้น ภาพยนตร์ เพลง หรืออุปกรณ์ในลักษณะต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
4. การใช้กิจกรรมให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดในการทบทวนประสบการณ์เดิม หรือแก้ปัญหาในเบื้องต้น เพื่อที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่เรื่อง เช่น การทายภาพ การทายปัญหา การต่อประโยค การวาดรูป การร้องเพลง การแข่งขันเกมต่าง ๆ เป็นต้น
กิจกรรมขั้นนำ จะช่วยให้ผู้เรียนได้ทบทวนประสบการณ์เดิม กระตุ้นความทรงจำ และช่วยให้ครูได้ประเมินศักยภาพ หรือพื้นฐานในการเรียนรู้ ก่อนที่จะเข้าสู่กิจกรรมหลักในลำดับต่อไป
Comments