แนวคิดการสอนแบบอุปนัยในวิชาภาษาไทย
- เฉลิมลาภ ทองอาจ, ค.ด.
- Jun 20, 2017
- 1 min read
วิชาภาษาไทยมีสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์และหลักการ ซึ่งการเรียนรู้สามารถใช้วิธีการหลักได้สองวิธี ได้แก่ การเรียนรู้แบบนิรนัย และการเรียนรู้แบบอุปนัย สำหรับการเรียนรู้แบบนิรนัยนั้น บทบาทของครูจะโดดเด่นขึ้นมา เนื่องจากเป็นผู้นำในการอธิบายและบอกหลักการแก่นักเรียนโดยตรง จากนั้นจึงให้นักเรียนฝึกหัด หรือทำความเข้าใจเรื่องที่เรียนตามหลักการดังกล่าว แต่การเรียนรู้ที่มีความหมาย และผู้เรียนได้ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้การเรียนรู้แบบอุปนัย คือ การที่ผู้เรียนค่อย ๆสังเกตปรากฏการณ์ย่อย ๆ ต่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ แล้วหาหลักการร่วมจากข้อมูล หรือสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่ปรากฏในความเป็นจริงด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนรู้ด้วยแนวคิดการสอนแบบอุปนัย เป็นที่มาของวิธีสอนหลากหลายลักษณะ ทั้งการสอนแบบปัญหาเป็นฐาน การสอนแบบกระตือรือร้น การสอนแบบโครงงาน การเรียนรู้ด้วยการค้นพบ การเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษาเป็นฐาน เป็นต้น (Prince & Felder, 2006)

ครูผู้สอนควรออกแบบการเรียนการสอนภาษาไทย ให้มีกิจกรรมตามแนวคิดการสอนแบบอุปนัย ด้วยการให้นักเรียนสังเกตข้อมูลในสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยยังไม่นำเสนอส่วนที่เป็นหลักการ หรือกฎเกณฑ์ เพื่อให้นักเรียนพยายามที่จะสังเกตและใช้ประสบการณ์ของตนเอง ในการพิจารณาข้อมูล ลองวิเคราะห์ ลองทดสอบ และตั้งสมมติฐานที่คิดว่า น่าจะเป็น เพื่อที่จะหาหลักการหรือกฎเกณฑ์ อันเป็นข้อความรู้ต่าง ๆ ด้วยตนเองก่อน ซึ่งในกระบวนการสังเกตและทดสอบนั้นเอง ที่นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ อันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนข้อมูลที่เข้ามาใหม่ กับข้อมูลที่มีอยู่ภายใน จนกระทั้งค้นพบสิ่งที่ตนเองต้องการ ตัวอย่างเช่น ในการจัดการเรียนการสอนเรื่องฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ ครูจะกำหนดตัวอย่างคำประพันธ์ แล้วให้นักเรียนลองสังเกตและพิจารณาคำประพันธ์หลาย ๆ บทว่า มีลักษณะและองค์ประกอบอย่างไรบ้าง จากนั้นนักเรียนก็จะสังเกตรูปแบบ พิจารณาจำนวนคำ วรรค และการส่งสัมผัสต่าง ๆ โดยในระยะแรก นักเรียนจะใช้ประสบการณ์เดิมของตนเอง สร้างหลักเกณฑ์บางอย่างในเบื้องต้น ที่จะทดสอบคำประพันธ์ที่กำลังพิจารณาอยู่ ว่ามีลักษณะของรูปแบบอย่างไรบ้าง
แน่นอนว่า สิ่งที่นักเรียนสังเกตได้ด้วยตนเองในระยะแรกนี้ อาจจะยังไม่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ทำให้หลักเกณฑ์หรือฉันทลักษณ์ที่สรุปได้ อาจจะผิดไปจากที่ควรจะเป็น ซึ่งครูจะต้องกระตุ้นให้นักเรียนทดลองพิจารณาข้อมูลใหม่ประกอบเข้าไปเรื่อย โดยนักเรียนก็จะนำหลักเกณฑ์ที่สร้างขึ้น ไปใช้ในการสังเกตและทดสอบคำประพันธ์บทอื่น ๆ ว่าสอดคล้องกับหลักเกณฑ์นั้นหรือไม่ ถ้าไม่สอดคล้องก็จะมีการปรับเปลี่ยน และสร้างหลักเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ซึ่งหากนำข้อมูลมาพิจารณาและทำ กระบวนการดังกล่าวซ้ำอีกหลายครั้ง หลักเกณฑ์ก็จะปรับเปลี่ยนจนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ใช้ได้ครอบคลุมคำประพันธ์ในประเภทนั้นทั้งหมด นักเรียนก็จะสามารถที่จะสรุปหลักเกณฑ์เกี่ยวกับฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ได้ในที่สุด และถือเป็นการค้นพบฉันทลักษณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง
นอกจากจะสามารถใช้แนวคิดการสอนแบบอุปนัยกับสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางภาษาแล้ว ยังสามารถใช้กับการสอนสาระการเรียนรู้การอ่าน และสาระการเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรม เพราะในการอ่าน นักเรียนจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากการอ่าน เพื่อที่จะสรุป หรืออนุมานไปสู่ข้อสรุปต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่เป็นแนวคิด ข้อคิด และคุณค่าจากเรื่อง ซึ่งอาจจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในสิ่งที่อ่านโดยตรง และนักเรียนสามารถใช้วิธีการอุปนัย สังเกตบทพูด บทบรรยาย หรือเหตุการณ์ในเรื่องที่อ่าน ซึ่งปรากฏซ้ำ หรือมีลักษณะร่วม จนทำให้สามารถที่จะตั้งขึ้นเป็นหลักเกณฑ์ หรือข้อสรุปที่เป็นไปได้จากสิ่งที่อ่านนั้น ดังที่ได้กล่าวมานี้ ครูภาษาไทยจึงควรที่จะออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นการสอนแบบอุปนัย ซึ่งผู้เรียนจะกลายเป็นศูนย์กลาง และสามารถที่จะเรียนรู้ได้อย่างมีความหมาย และมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างแท้จริง
_______________________________________________________________
รายการอ้างอิง
Prince, M. J., & Felder, R. M. (2006). Inductive teaching and learning methods: Definitions, comparisons, and research bases. Journal of engineering education, 95(2), 123-138.
Comments